สื่อสังคมออนไลน์ (social media) เช่น Facebook, Line, Twitter instagram ฯลฯ ในหลายครั้ง ท่านได้แชร์ข้อมูลต่อให้กับเพื่อน ครอบครัว และคนอื่น ๆ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบไตร่ตรองข้อมูลดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งอาจก่อให้ความเสียหายกับคนอื่นได้ การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับถ้อยคำแย่ๆ รั้งแต่จะก่อให้เกิดความรับผิดทางกฎหมายตามมา

ความหมายของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

การที่จะพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใสความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ ท่านจักต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ว่าเป็นหมิ่นประมาท ตาม ป.อ.มาตรา 326  และจำต้องถือตามความคิดเห็นของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาท  ทั้งนี้ข้อความที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังนั้น มิใช่ผลแห่งการกระทำแต่เป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้นเอง จะเสียหายอย่างไร ศาลวินิจฉัยเองได้ 

โดยการเผยแพร่ข้อความหมมิ่นประมาทบน social media เช่น Facebook, Line, Twitter ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ด้วย เนื่องจากจัดเป็นการเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป (การโฆษณา) หรือแม้กระทั่งการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้ต่อจากบุคคลอื่นก็มีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องระวางโทษหนักกว่ากรณีแรก คือจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท สำหรับการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

สรุปว่า ในส่วนการพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่นั้น เห็นว่าความชัดเจนจะตกอยู่ที่ “การพิสูจน์ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นจากถ้อยคำ เช่น หากท่านเป็นผู้ประกอบธุรกิจในวงการบันเทิง การถูกโจมตีด้วยถ้อยคำที่ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทำให้รายได้ของท่านลดลงจากการเปรียบเทียบรายได้และการจ้างงาน โดยการทำตารางเปรียบเทียบก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์หมิ่นประมาท ท่านมีโอกาศฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาทนั้น สำเร็จได้

Etica è una parola bellissima, gli odiatori se ne facciano una ragione –  Articolo21

ระวางโทษความผิดและค่าเสียหาย

ความรับผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทปกติ (มาตรา 326) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา (มาตรา 328) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท  ส่วนค่าเสียหายในทางแพ่งจากการเสียรายได้หรือทรัพย์สินอื่นใดจากถ้อยคำที่ถูกหมิ่นประมาท (มาตรา 423) คือ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ที่ผู้กระทำจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น จำนวนค่าเสียหายมักแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงรายคดี หากท่านมีชื่อเสียงและเสียหายมาก ก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชดเชยมาก กลับกันหากท่านเสียหายน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบจากถ้อยคำดังกล่าว ท่านไม่อาจได้รับชดเชยในส่วนนี้โดยมาก

นั่นก็เพราะในกฎหมายไทย ยังไม่มีการเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ กล่าวคือ ความเสียหายทางจิตใจนั้นถือว่าเป็นความเสียหายในทางศีลธรรมอย่างหนึ่ง เป็นความเสียหายที่ไม่มีรูปร่างและจับต้องไม่ได้ ซึ่งตามกฎหมายลักษณะ ละเมิด จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ ค่าเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ โดยบัญญัติอยู่ในมาตรา 446 แต่บทบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะค่าเสียหายทางจิตใจที่ สืบเนื่องมาจากความเสียหายที มีต่อชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย เสรีภาพ และการกระทําลดทอนศีลธรรมต่อหญิงเท่านั้น มิได้รวมถึงความเสียหายทางจิตใจที เกิดขึ้นจากการกระทําละเมิดด้วยสภาพจิตใจแต่อย่างใด เนื่องจากพิสูจน์ได้ยากว่าจะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่อาจได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง

ขั้นตอนการดำเนินคดี

มีข้อควรปฎิบัติดังนี้

1.เก็บเอกสารหลักฐานที่อีกฝ่าย โพสต์หมิ่นประมาท (เผยแพร่) ให้มากที่สุด ว่ามีจำนวนกี่ครั้ง ต้องเก็บไว้ให้ครบถ้วน ข้อแนะนำว่า ควรเป็นโพสต์ที่เผยแพร่โดยผู้อื่นสามารถเห็นได้ นอกเหนือจากผู้เผยแพร่ถ้อยคำและผู้ถูกหมิ่นประมาท เช่น การโพสต์ในกลุ่มที่มีผู้ใช้หลายราย หรือตามไทมไลน์ของสื่อโซเชียลนั้นๆ

2.เก็บภาพหลักฐานที่ระบุได้ว่า โปรโฟล์ ผู้หมิ่นประมาทท่านเป็นใคร เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง ติดต่อและติดตามตัวได้โดยง่าย ( ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ , อาชีพ ,สถานที่ทำงาน ,ภาพถ่ายหน้าตา)

จากนั้นให้ท่าน เดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน(เจ้าหน้าที่ตำตรวจ) เพื่อให้การสอบสวน เมื่อเสร็จสิ้น ทางเจ้าพนักงานก็จะส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ หากคดีมีมูล คือ ถูกพนักงานวินิจฉัยว่าถ้อยคำดังกล่าวทำให้ท่านเสียหายจริง พบตัวผู้กระทำความผิด และสามารถพิสูจน์ความเสียหายนั้นได้เป็นรูปธรรม พนักงานอัยการจะเป็นผู้ตั้งเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลแทนท่าน

หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือ ติดต่อทนายความทันที เพื่อเรียบเรียงข้อเท็จจริงและเรื่องราวของท่านฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองในรูปแบบเอกชน ผู้เขียนค่อนข้างแนะนำทางเลือกนี้สำหรับท่านที่ต้องการจัดแจงรายละเอียดคดีเองอย่างอิสระ รวดเร็วที่สุด ทั้งท่านยังสามารถติดต่อสถานะของคดีได้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และสามารถรับรองได้ว่าคดีของท่านจะถูกยื่นฟ้องและพิจารณาในชั้นศาลได้แน่นอน

เหตุยกเว้นความผิด

อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 326 หรือ 328 ข้างต้น อาจไม่ต้องรับโทษ เพราะมีเหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) สำหรับกรณีที่ข้อความดังกล่าวเป็นการ “ติชม ด้วยความเป็นธรรม” ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เช่นกระทำการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวเพื่อที่จะบอกหรือเตือนผู้อื่น รวมถึงประชาชน หรือแม้กระทั่งสังคม เพื่อให้ระมัดระวังตัว เป็นต้น หรืออาจได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 กรณีที่ผู้กระทำความผิด สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ตนหมิ่นประมาทนั้น “เป็นความจริง” และหากไม่เผยแพร่ออกไปอาจกระทบต่อสังคมโดยรวมได้ และการพิสูจน์ของผู้กระทำความผิดนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน(สำคัญ) ผู้กระทำความผิดสามารถอ้างเหตุยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ได้

อายุความ

หมิ่นประมาทอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่อง ความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และความผิดข้อหาหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดละรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว แต่มิได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีภายใน 3 เดือน คดีนั้นจะขาดอายุความ กล่าวคือ ศาลจะไม่สามารถที่นำคดีความของท่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้ (ฟ้อง/เรียกร้องไม่ได้หากขาดอายุความ)

ดังนั้น หากท่านตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาแล้วอย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะการปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานไปก็อาจมีผลเสียในด้านกระบวนวิธีพิจารณาคดีการพิสูจน์พยานหลักฐานและการลงโทษผู้กระทําความผิดได้ ยิ่งระยะเวลาเนิ่นนานออกไปมากเท่าไร ความทรงจําของพยานตลอดจนการหาพยานหลักฐานย่อมสูญหายหรือเลือนไปได้ในที่สุด

Two Brains Are Better Than One: AI and Humans Work to Fight Hate |  California Magazine

บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326)

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

,

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328)

ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือวัตถุอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

,

ข้อยกเว้นที่ไว้ชัดเจนสำหรับหมิ่นประมา(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329)

            “ผู้ใดแสดงความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

                (๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

                (๒) ในฐานะเจ้าพนักงานปฎิบัติการตามหน้าที่

                (๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

                (๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

             ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

,

เรียกค่าเสียหายละเมิดจากการหมิ่นประมาท  (ระมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423)

ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ศาลฎีกาสายตรงถึงคุก อ่านคำพิพากษาผ่านจอ

คำคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558

การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562

ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามป.อ. มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ กลุ่มโพสต์นิวออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้นยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาฎีกาที่ 5276/2562

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้น ก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ผู้กระทำ ต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ #มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาฎีกา 10511/2555

การที่จำเลยนำรูปถ่ายเอกสารของผู้เสียหายติดไว้ในสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 522/2546 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งเขียนข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อบิดามารดารวมทั้งวันเดือนปีเกิดของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความแล้วใช้ปากกาเน้นข้อความสีเหลืองสะท้อนแสงระบายข้อความในสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวตรงคำว่า เรื่อง ยืมและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายจะต้องชำระ รวมทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมทั้งหมด จากนั้นนำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวติดไว้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ตั้งอยู่ในตลาดซึ่งมีประชาชนผ่านไปมา จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการโฆษณา และไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

         การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ และข้อความว่า “ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณ” นั้นก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุก็เป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากการสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543

ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องของจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 ได้นำไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้งข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่ได้ความจากคำฟ้องของ โจทก์ในคดีนี้กับที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. ก็ปรากฏว่าล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และข้อความที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. นอกจากข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลดังกล่าวแล้ว ยังได้ความอีกว่าการกระทำของ จำเลยที่ 2 เป็นการเผยแพร่คำฟ้องไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะ ส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. จึงเป็น การรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับ ความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) ไม่เป็นความผิด ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542

จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวัน ข. จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของและผู้จำหน่าย หนังสือพิมพ์รายวัน ข. แก่ประชาชนทั่วไป จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ ข. ในคอลัมน์ บันเทิงว่า “จิกจักรวาล!หึ่งปุ๋ยโอเค.นู้ด!5 ล้าน.!” มีใจความในเนื้อข่าวว่า “กระแสคลั่งนู้ดโหมหนักไม่เว้นกระทั่งนางงามจักรวาล”ปุ๋ย” ภ.ปุ๋ยยกตำแหน่งหรูการันตีขูดค่าแก้ผ้า 5 ล้านทางนิตยสาร “มิส”นู้ดอัลบัมได้ส่งตัวแทนไปทาบทาม “ปุ๋ย” ภ.นางสาวไทยและนางงามจักรวาล ปี 2531เพื่อมาถ่ายอัลบัม ด้วย แต่ปรากฏว่าทางปุ๋ย เรียกค่าตัวเพื่อการนี้สูงถึง 5,000,000 บาท จึงจะยอมถ่ายอย่างตอนนี้มิสไปติดต่อปุ๋ยใช่ไหมปุ๋ยโอเค. แต่เงินไม่ถึงก็คอยดูต่อไปแล้วกัน เดี๋ยว เล่มอื่นก็เอาไปถ่ายจนได้เงินแค่ 5,000,000 บาท ถ้าจะทำกันจริง ๆ ต้องมีคนกล้าเสี่ยงแน่นอน” โดยข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณา จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใด เลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่ได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์แต่กลับเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริงเกิดเข้าใจผิด ดูหมิ่นเกลียดชัง โจทก์อันส่งผลกระทบต่อเกียรติ และสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอัน เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ได้รับการยกเว้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332(2) บัญญัติว่าในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดศาลอาจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่ บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียว หรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา เห็นได้ว่า ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัย ต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือ จากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน ข. ที่จำเลยที่เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา เป็นผู้ใส่ความ โจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด หรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ลำพังแต่เพียงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือนและปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

รับคำปรึกษากฎหมายติดต่อด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

ทนายความประจำสนง.