สารบัญ
ความหมายของพินัยกรรม
พินัยกรรม คือ หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เป็นการกำหนดเมื่อตายไปแล้วทรัพย์สินหรือการต่างๆของตนเองจะให้แก่ลูก หรือให้แก่ใครเป็นคนจัดการมรดก ซึ่งพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไป และพินัยกรรมนี้จะต้องถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น โดยพินัยกรรมมีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ ได้แก่ 1.แบบธรรมดา 2.แบบเขียนเองทั้งฉบับ 3.แบบเอกสารฝ่ายเมือง 4.เอกสารลับ 5.แบบทำด้วยวาจา
ทั้งนี้ อายุของผู้ที่ต้องการทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่า อายุต้องครบ 15 ปี บริบูรณ์ถึงจะสามารถทำพินัยกรรมได้ ส่วนอายุจะมากสักเท่าไรหากสติสัมปะชัญญะดีก็สามารถทำได้ตลอด เว้นแต่บุคคลไร้ความสามารถที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้แม้ในกรณีใดๆ มิเช่นนั้นพินัยกรรมที่บุคคลไร้ความสามารถทำขึ้นจะตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย
ควรทำพินัยกรรมแบบใด
โดย พินัยกรรมแบบธรรมดาเป็นแบบที่นิยมทำมากที่สุด พินัยกรรมแบบนี้ จะให้คนอื่นเขียนให้หรือใช้การพิมพ์ก็ย่อมได้ แต่พินัยกรรมดังกล่าว ที่ทำต้องลง วัน เดือน ปี ใน วันที่ทำพินัยกรรม และเจ้าของมรดกต้องลงชื่อ(ลงลายเซ็น)ไว้ท้ายพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานต้องลงรายชื่อรับรองลายมือผู้ทำพินัยกรรมนั้นด้วย โดยการลงชื่อของเจ้ามรดก ต้องลงชื่อพร้อมกันในเวลาที่ทำพินัยกรรมต่อหน้าพยาน (สำคัญ) *ทั้งนี้การขูด ลบ ตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องปฎิบัติตามแบบ คือ ให้เซ็นชื่อกำกับไว้ทุกคนที่ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม จึงจะสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดให้มีแบบของพินัยกรรมไว้หลายแบบ จะเลือกทำแบบใดก็ได้ มีผลตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แม้ผู้ทำพินัยกรรม(ตั้งใจทำพินัยกรรมแบบหนึ่ง *ในกรณีหากปรากฎว่าไม่ถูกต้องตามแบบทีตั้งใจจะทำ(ทำผิดแบบ) เมื่อพินัยกรรมนั้นครบถ้วนตามแบบอื่น ที่กำหนดไว้ กฎหมายก็ถือว่าเป็นพินัยกรรมใช้ได้ตามกฎหมายตามแบบที่ครบถ้วนนั้น อ้างอิง คำพิพากษาฎีกาที่ 1211/2492 (ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2494
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม พินัยกรรมแบบธรรมดา ที่นี่
เมื่อทำเสร็จสิ้น ท่านควรมอบให้ทนายเก็บไว้ ชุดหนี่ง หรือ ผู้ที่ท่านไว้ใจ ชุดหนึ่ง อีกชุดมอบกับทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรม และควทำสำเนาของำพินัยกรรมไว้มากกว่า 1 ฉบับ เพราะหากทำพินัยกรรมไว้ฉบับเดียวอาจจะมีปัญหา เช่น เคยมีคดีเมื่อเจ้ามรดกป่วยหนักทายาทผู้หนึ่งได้เปิดเซฟพบว่ามีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้คนอื่นซึ่งไม่ใช่ตน ก็ได้ทำลายเสีย พินัยจึงต้องมีการระบุว่ามีกี่ฉบับ และผู้ใดเก็บไว้บ้าง (แนะนำอย่างน้อย 2-3ฉบับ) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสูญหายหรือถูกทำลาย เจตนาของผู้ทำพินัยกรรมจะได้รับการปฏิบัติตามต่อไป สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็จะสำเร็จลุล่วงได้
การเพิกถอนพินัยกรรม
พินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นผู้ทำพินัยกรรมสามารถเพิกถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมเมื่อไหร่ก็ได้ สำหรับการเพิกถอนนั้นทำได้หลายวิธีเช่น ฉีกทิ้ง หรือขีดฆ่าก็ได้ หากต้องการแก้ไขพินัยกรรมจะเขียนพินัยกรรมเดิมไม่ได้ จะต้องเขียนขึ้นมาใหม่อีกฉบับโดยเท้าความถึงฉบับเดิม ว่าต้องการแก้ไขส่วนใดบ้าง
การทำพินัยกรรมจะทำได้ก็แต่แบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่อง แบบพินัยกรรม ( มาตรา 1655) ถ้าทำนอกแบบที่กล่าวไว้ในกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม และอาจไม่สามารถบังคับใช้ได้ และ พินัยกรรมไม่ได้กำหนดไว้ว่า จะยกให้ได้แต่เฉพาะทายาทเท่านั้น ท่านสามารถตกลงยกทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่นได้เสมอ
พยานในพินัยกรรม
กฎหมายได้บัญญัติถึงบุคคล ผู้ที่จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้ ดังนี้
1.ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ)
2.ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้น (ผู้รับพินัยกรรมหรือลูกท่านที่รับมรดกตามพินัยกรรม)
3.บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
4.บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอด ทั้งสองข้าง
นอกเหนือจากบุคคลข้างต้นทั้ง 4 ข้อนี้ ล้วนสามารถเป็นพยานที่ลงชื่อรับรองพินัยกรรมได้ทั้งสิ้น
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย รวมถึง เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1646 “บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้”
มาตรา 1647 “การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม”
มาตรา 1648 “พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705
การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ ป.พ.พ. มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713
ผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ระบุว่า”ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทายาทของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า “และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย” แม้จะไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดังกล่าว เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่
บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554
การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้
การที่ผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 วรรคแรก บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่การโอนนั้นสมบูรณ์และมิได้ถูกเพิกถอนในภายหลัง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกสินเดิมของตนคือที่ดินมีโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่ ล. ซึ่งเป็นบุตรแล้วต่อมาเจ้ามรดกได้ไปจดทะเบียนโอนทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่ ล. ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมดังกล่าว โดยมิได้รับความยินยอมจากสามีเจ้ามรดก ต่อมาเมื่อสามีเจ้ามรดกบอกล้างนิติกรรมการโอนและฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการโอน และเจ้าพนักงานได้แก้สารบาญในโฉนดใส่ชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิมแล้ว ข้อกำหนดพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงยังมิได้ถูกเพิกถอนไป ล. ยังคงมีสิทธิที่จะรับมรดกตามพินัยกรรมในทรัพย์ดังกล่าวได้
ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับแรก ข้อ 1 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2668 ให้แก่บุตร 5 คน คนละ 626.8 ตารางวา ข้อ 2 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับที่ยกให้บุตรตามข้อ 1 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับที่สองว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ที่เหลือจากยกให้จำเลยที่ 2 ยินดียกให้โจทก์ทั้งหมด ดังนี้ เห็นได้ว่าเกิดจากการคำนวณเนื้อที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายผิดพลาดว่าเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา หรือ 710 ตารางวา แต่ความจริงที่ดินส่วนของผู้ตายมีเนื้อที่เพียง 606.66 ตารางวา เมื่อยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 606.66 ตารางวา ยังไม่ครบตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ผู้ตายระบุไว้ตามที่พินัยกรรมฉบับแรก จึงไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เหลือแบ่งแก่โจทก์ ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่ดินแก่โจทก์จึงสิ้นผล
พินัยกรรมฝ่ายเมืองนั้นแม้จะไม่ถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ถ้าเป็นการถูกต้องอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดาแล้ว ก็ต้องถือว่าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์ตามแบบธรรมดาได้ พินัยกรรมมีรอยขีดฆ่า แล้วมิได้เซ็นชื่อกำกับไว้ ถ้าปรากฏว่าข้อความที่ขีดฆ่านั้นเป็นข้อหยุมหยิมเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสำคัญมิได้ทำให้เสียถ้อยกะทงความตรงไหนแต่อย่างใด เพียงเท่านี้ หาทำให้พินัยกรรมทั้งฉบับนั้นเสียไปไม่ คงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่ ในกรณีที่คู่ความมิได้ต่อสู้ไว้ การที่ศาลจะยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างเองนั้นศาลย่อมกระทำในเมื่อเห็นสมควร มิใช่ว่าถ้าเห็นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ฯลฯ แล้วศาลจะต้องยกขึ้นเองเสมอไป
แม้พินัยกรรมที่ทำอย่างเอกสารลับจะไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656 แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้