ในปัจจุบันนี้ หากจะกล่าวถึง หนี้ ที่สามารถพบเห็นทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้จากบัตรเครดิต ไม่ว่าจะ เกิดจากการใช้บัตรเครดิตโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ การขาดวินัยเมื่อหมุนเงินไม่ทัน ปัญหาที่ตามมาก็คือ เป็นหนี้ค้างชำระ ซึ่งผู้มีปัญหาตรงนี้ทุกคนแทบจะเจอเหมือนกันคือ การถูกทวงถามหนี้

เจ้าหนี้ทวงหนี้อย่างไร 

การถูกทวงถามหนี้ ส่วนมากจะพบเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่ทวงถาม เช่น การเริ่มด้วยการ เจรจา ทวงถาม ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงการข่มขู่สารพัด ตั้งแต่การเสียประวัติทางการเงินของผู้ถูกทวงถาม การเสียดอกเบี้ยผิดนัด ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ต้องถูกยึดทรัพย์ เป็นต้น 

ซึ่งต้องเข้าใจว่า กรณีฝ่ายเอกชนที่รับจ้างทวงหนี้โดยเฉพาะนี้ หากทวงได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากเงินที่ทวงถามได้ เมื่อได้รับชำระมาก ก็จะได้ค่าตอบแทนมากตามไปด้วย วิธีการรับมือกับกรณีดังกล่าว ต้องเข้าใจก่อนว่า การเป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องทางแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่อง ระหว่างเอกชนกับเอกชน ที่มีทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบ ไปดำเนินการผูกนิติสัมพันธ์กันเอง หากมีการฟ้องร้องบังคับกันในทางศาลก็ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง

เมื่อถูกศาลพิพากษาในหนี้บัตรเครดิต

เมื่อมีผลเป็นคำพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ฝ่ายชนะคดีก็ต้องดำเนินการตามคำพิพากษา คือบังคับได้แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่มีก็ต้องรอจนกว่าลูกหนี้จะหามาได้ (เวลาในการบังคับคดีคือ 10 ปี นับแต่ศาลตัดสิน) เรื่องทางแพ่งจึงเป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น แต่จะไปบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้ไม่ได้ 

ส่วนการบังคับคดี คือการยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบ หรืออาจจะมีการอายัดสิทธิต่าง ๆ ของลูกหนี้ กระบวนการต่าง ๆ นั้นย่อมเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ เมื่อมีการฟ้องร้องก็ต้องผ่านขั้น ตอน มีระยะเวลา ยืดออกไปอีกพอสมควร จึงยังพอมีเวลาที่จะหาทางแก้ไขปัญหาได้ หรืออาจมีเงินมาชำระหนี้ในภายหน้าได้ 

ข้อดึของการชำระหนี้ในชั้นศาล

กล่าวคือ มีข้อดีในส่วน ภาระดอกเบี้ย ที่อยู่ในกรอบของศาลนั้นมักมีความเป็นธรรมมากกว่า ระบบการจัดการของธนาคารเจ้าของบัตรหรือเจ้าหนี้ที่อาจจะทำให้ลูกหนี้ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมอย่างอื่นเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อมีการทวงถามจากเจ้าหนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหลบหลีก ให้ตอบตามความเป็นจริง ไม่ควรใช้ คำตอบแบบเลี่ยงไปเลี่ยงมา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น 

หนังสือรับสภาพหนี้ วิธีการสุดคลาสสิคของเจ้าหนี้

วิธีการหนึ่งที่ธนาคารเจ้าของบัตรมักจะนำมาใช้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจให้กับลูกหนี้ก็คือ การเปลี่ยน แปลงยอดหนี้ วิธีการผ่อนชำระหรือการปรับปรุงรายการหนี้ใหม่ นั่นคือ ให้ลูกหนี้ “รับสภาพหนี้” นั่นเอง แต่จะหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้ โดยทางธนาคารจะเสนอแต่เงื่อนไขดี ๆ ส่วนผลที่ตามมาจะไม่กล่าวถึง โดยการปิดบังข้อมูล ทำให้ลูกหนี้เกิดความสนใจรับข้อเสนอ ซึ่งมีวิธีการเช่น 

– ชื่อของรายการที่นำเสนอ อาจเป็นในชื่อของสินเชื่ออื่น ๆ 

– ข้อเสนอเกี่ยวกับการยืดหยุ่นในการผ่อนชำระให้ลูกหนี้สนใจ ซึ่งจะไม่เข้มงวดเหมือนบัตรเครดิต 

– เมื่อลูกหนี้รับข้อเสนอ ก็จะไม่ถูกทวงถามอีก 

– ระยะแรก อาจให้เว้นดอกเบี้ยในระยะเริ่มต้น หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหนี้บัตรเครดิต 

– การทำสัญญาหรือข้อตกลงใหม่ของสินเชื่อนี้ “สามารถทำได้ง่าย” สะดวก เพียงลงนามในเอกสาร พร้อมสำเนาหลักฐานประจำตัวส่งโทรสารไปยังฝ่ายสินเชื่อ การชำระเงินคือก็เพียงผ่านช่องทางธนาคารจุดชำระค่าบริการต่าง ๆ เหมือนบัตรเครดิต 

นอกจากนี้เราไม่สามารถทราบข้อมูลที่ชัดเจนได้มากนัก ไม่มีเอกสารให้พิจารณาให้รอบคอบ รวมถึงการคิดว่ารับข้อเสนอแบบใหม่แล้วจะได้ตัดความรำคาญจากการทวงถามในหนี้บัตรเครดิต ซึ่งข้อเสนอนี้ธนาคารย่อมได้ประโยชน์มากกว่าการให้ลูกหนี้คงสถานะเป็นลูกหนี้ในบัตรเครดิต 

ทำสินเชื่อใหม่กับบัตรเครดิต ดีไหม?

เงื่อนไขต่าง ๆ ในสินเชื่อใหม่กับบัตรเครดิตนั้น แตกต่างกันคือ 

1. ดอกเบี้ย บัตรเครดิตนั้น กฎหมายให้เรียกได้ไม่เกิน 18% ต่อปี แต่สินเชื่อใหม่นี้ไม่เกี่ยวกับ เรื่องบัตรเครดิต จึงอาจเกิน 18% ต่อปีได้ ทั้งกฎหมายยังให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าเอกชนให้กู้ทั่วไปซึ่งไม่เกิน 15% ต่อปี (หากผิดนัด อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นไปอีก) 

2. ค่าทวงถาม ในบัตรเครดิต กฎหมายกำหนดให้ธนาคารมีสิทธิเรียกได้เดือนละไม่เกิน 250 บาท แต่กรณีสินเชื่อใหม่อาจมีลักษณะกำหนดได้ตามใจธนาคารเจ้าหนี้ หรืออาจเรียกมาในแบบเบี้ยปรับ ซึ่งมีจำนวนสูงมาก การขอลดเบี้ยปรับย่อมทำได้ยาก ต้องให้ศาลลดให้เท่านั้น 

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

อายุความฟ้องร้อง บัตรเครดิตอายุความสั้นกว่าคือ 2 ปี นับแต่ธนาคารได้มีการใช้เงินทดรองแทนผู้ ถือบัตร แต่ตามสินเชื่อใหม่ อาจเป็นกรณีมีอายุความทั่วไปคือ 10 ปี นับแต่ผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีบัตรเครดิต ธนาคารอาจเจอปัญหาเอกสารหลักฐานไม่สมบูรณ์ เช่น ลงลายมือชื่อไม่ครบ หนี้ขาดอายุความแล้ว หรือยอดหนี้ผิดพลาด ธนาคารจึงพยายามให้ลูกหนี้รับข้อเสนอเปลี่ยนสินเชื่อแบบใหม่ ดังนั้นต้องดูว่าเราอยู่ในฐานะได้เปรียบเจ้าหนี้หรือไม่ ก่อนจะรับข้อเสนอสินเชื่อใหม่นี้ต้องดูเงื่อนไขและข้อตกลงที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนก่อหนี้ จึงต้องรับผิดชอบ เพียงแต่ไม่ให้เจ้าหนี้เอาเปรียบมากเกินไป

รับคำปรึกษากฎหมายติดต่อด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

ทนายความประจำสนง.