จดทะเบียนรับรองบุตร ตามหลักกฎหมายแล้ว บุตรที่เกิดโดยบิด […]

จดทะเบียนรับรองบุตร

ตามหลักกฎหมายแล้ว บุตรที่เกิดโดยบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตรได้ และถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย นับแต่วันจดทะเบียนหรือโดยบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือโดยคำพิพากษาของศาลให้เด็กนั้นเป็นบุตรของชายผู้เป็นบิดา 

จดทะเบียนรับรองบุตร

โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น สามารถทำได้ด้วย 2 วิธี คือ ทั้งการรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดาและโดยคำพิพากษาของศาล

1.จดทะเบียนรับรองบุตร ด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา 

อ้างอิง มาตรา 1547 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

1.1 หลักเกณฑ์

บิดามารดาและบุตรต้องไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอกิ่งอำเภอหรือสถานทูตสถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้ ถ้ามารดาและบุตรไม่ไปด้วยนายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มา เพื่อให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านการจดทะเบียน ถ้าพ้น 60 วันนับแต่การแจ้งของนายทะเบียนไปถึงถือว่าไม่ให้ความยินยอม (ถ้ามารดาและบุตรอยู่ต่างประเทศจะขยายเวลาเป็น 180 วัน)

ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล 

1.2 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1 บัตรประจำตัวของบิดามารดา

2 สูติบัตรของบุตร

3 สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน 

1.3 ค่าธรรมเนียม

หากดำเนินการภายในสำนักทะเบียนจะไม่ถูกเก็บค่าธรรมเนียม แต่หากนอกสำนักทะเบียนรายละ 200 บาทไทย

1.4 สถานที่ติดต่อ

ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอกิ่งอำเภอ หรือสถานทูตสถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของบิดามารดาหรือบุตร 

1.5 ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนการรับรองบุตร

1 บิดาต้องยื่นคำร้องตามแบบของทางราชการ 

2 บุตรหรือมารดาลงชื่อให้ความยินยอมที่ด้านหลังคำร้อง 

ทั้งนี้ หากถ้าบุตรหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา มารดาเด็กถึงแก่กรรม การทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล 

2. การรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล 

อ้างอิง มาตรา 1547 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ศาลพิพากษาให้ จดทะเบียนรับรองบุตร

2.1 หลักเกณฑ์

บิดามารดาหรือบุตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหากประสงค์จะให้มีการรับรองบุตรแต่ไม่สามารถดำเนินการโดยความยินยอมของทุกฝ่ายได้ จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้มีการรับรองบุตรได้ 

2.2 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย

สำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลรับรองว่าถูกต้อง 

2.3 ค่าธรรมเนียม

การรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาลไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ

2.4 สถานที่ติดต่อ

ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอกิ่งอำเภอ หรือสถานทูตสถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้ 

2.5 ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนการรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล

ผู้ร้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารหลักฐานเมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วก็จะจดทะเบียนรับรองบุตรให้ตามคำร้อง 

ข้อควรทราบกับการ จดทะเบียนรับรองบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรสามารถกระทำได้ 2 วิธีได้แก่ การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียนและ การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน (โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนต้องเสียค่าธรรมเนียมรายละ 200 บาท) 

ซึ่ง การจดทะเบียนรับรองบุตรไม่มีใบสำคัญออกให้ถ้าต้องการหลักฐานก็ให้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาการรับรองบุตรโดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท 

ประโยชน์ของการจดทะเบียนรับรองบุตร

1.เด็กมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลรับมรดกของบิดา

2. ข้าราชการมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าช่วยเหลือต่างๆของบุตร 

3. บิดามีสิทธิ์ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้ 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการให้ทนายความดำเนินการเกี่ยวกับการ จดทะเบียนรับรองบุตร ติดต่อเรา

รับคำปรึกษากฎหมายติดต่อด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

ทนายความประจำสนง.