ลักทรัพย์นายจ้าง ติดคุกจริง ไม่มีรอการลงโทษ ยิ่งทรัพย์ที่ลักขโมยนั้นเป็นของนายจ้าง อัตราโทษสูงขึ้น พบขั้นตอนการดำเนินคดี ให้ลูกจ้างรู้นายจ้างทราบ ได้ไม่คุ้มเสีย

ความหมายของการลักทรัพย์

การลักทรัพย์ หมายความว่า การเอาของผู้อื่นไป โดยอาศัยเจตนาทุจริต เพื่อเป็นของตนเอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายกอาญา กล่าวคือ การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้นมีองค์ประกอบความผิดได้แก่ ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยมีเจตนาทุจริตคือ ต้องเป็นการเอาไปขณะที่มีผู้อื่นครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ และมีการแย่งไปจากการครอบครองนั้น

ระวางโทษความผิด

สำหรับโทษจำคุกในกรณี การลักทรัพย์ของบุคคลทั่วไปนั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ตามมาตรา 334

ส่วนกรณี ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างแล้วเข้าทำงานในหน้าที่ต่างๆไม่ว่าจะดูแลเงิน หรือสิ่งของต่างๆ ที่ไม่ใช่ของตน และลักทรัพย์ของนายจ้างไป โดยทุจริตแล้วนั้น จะมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง อัตราโทษจะสูงขึ้น คือต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท ตามมาตรา 335 (11)  

ลักทรัพย์นายจ้าง โทษแรงกว่า ลักทรัพย์

การดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหาย

โดยเมื่อบุคคลทั่วไปหรือนายจ้างนั้น รู้ตัวว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ หรือ ตั้งเรื่องฟ้องคดีเอง(ติดต่อทนายความเพื่อความรวดเร็ว) ส่วนการเรียกให้คืนทรัพย์ที่ถูกลักขโมยไป หรือใช้ราคานั้น เป็นเรื่องในทางแพ่งและพาณิชย์ ที่บุคคลทั่วไปหรือนายจ้างสามารถตั้งเรื่องฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งคืนด้วยตนเอง หรือ  บุคคลทั่วไปหรือนายจ้างผู้เสียหายนั้น จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนผ่านเจ้าพนักงานอัยการก็ได้ 

ทั้งนี้จากประสบการณ์งานคดีของสำนักงานฯเรา พบว่าการลักทรัพย์ของลูกจ้างนั้นมักพ่วงมาด้วยการปลอมแปลงเอกสาร และปลอมลายมือชื่อในเอกสารนั้นมีความผิด ตาม มาตรา 264 อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ไม่สามารถยอมความกันได้ และมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท

แต่ก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล ด้วยการแจ้งความกับพนักงานสอบสวน หรือตั้งเรื่องฟ้องคดีเอง(ติดต่อทนายความเพื่อความรวดเร็ว) ของฝ่ายบุคคลทั่วไปหรือนายจ้าง บุคคลทั่วไปหรือนายจ้างจะดำเนินการบังคับคดีเองไม่ได้ อย่างการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ หรือกระทำการอื่นใดที่เป็นการเรียกคืนทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยกับผู้กระทำความผิด  เว้นแต่เป็นการตกลงยินยอมระหว่างคู่กรณีเกี่ยวกับค่าเสียหาย  ทั้งนี้ข้อตกลง ไม่อาจตกลงกันเพื่อระงับคดีอาญาซึ่งเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดินได้ หากมีการฟ้องคดีแล้ว

อายุความ

สำหรับเรื่องอายุความ คดีลักทรัพย์นั้น ทั้งกรณีลักทรัพย์บุคคลทั่วไปและลักทรัพย์นายจ้างมีระวางโทษจำคุกเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 7 ปี กฎหมายจึงกำหนดให้มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิด(รู้ตัวผู้กระทำความผิด) ตามมาตรา 95 (3) ประมวลกฎหมายอาญา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากท่านล่าช้า พยานหลักฐานอาจรวบรวมและพิสูจน์ได้ยาก ดังนั้นท่านควรรีบแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ หรือ ติดต่อทนายความทันทีเพื่อดำเนินคดีต่อไปโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ท่านได้รับค่าเสียหายจากเหตุลักทรัพย์ได้เร็ว

บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

,
          มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์


          (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

,

มาตรา 43  คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกงยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย

,

มาตรา 44/1  ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น  ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้

คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้

,

มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท

VMware Loses $237M Patent Infringement Lawsuit - SDxCentral

คำคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2555

จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 และร่วมกันปลอมใบส่งของ เล่มที่ 3/3 เลขที่ 18 ลงวันที่ 16 เมษายน 2550 อันเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหาย แล้วนำใบส่งของที่ทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อ ส. กรรมการผู้จัดการของผู้เสียหายในวันเดียวกัน แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งสองลักทรัพย์สำเร็จ แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำของตนที่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2545

เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้อย่างชัดเจนแยกการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันลักเช็คของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไป ปลอมเช็ค และใช้เช็คที่ปลอมนั้นไปยื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงิน ซึ่งการกระทำแต่ละอย่างมีลักษณะที่แตกต่างกันต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัว และเป็นการกระทำความผิดโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างกระทงหนึ่งและฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมซึ่งต้องลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมอีกกระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557

จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12793 – 12794/2553

เมื่อคนไข้นอกไปพบแพทย์ผู้ตรวจ แพทย์จะออกใบสั่งตรวจและใบสั่งยาให้คนไข้นำไปยื่นที่แผนกการเงินเพื่อชำระเงินค่าตรวจรักษาและค่ายา เงินที่คนไข้นอกจ่ายให้โรงพยาบาลย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาล การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำความผิดในทางอาญาต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

การที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้แทนผู้เสียหายแล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินของผู้เสียหายในแต่ละวัน เป็นเพียงการยึดถือเงินของผู้เสียหายไว้ชั่วระยะเวลาทำการเท่านั้น ผู้เสียหายหาได้มอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และการที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในวันเวลาที่ต่างกัน จำเลยย่อมกระทำไปในแต่ละครั้งโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันตามโอกาสที่มีให้กระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

รับคำปรึกษากฎหมายติดต่อด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

ทนายความประจำสนง.