ดาวน์โหลด ฟรี!
บันทึกข้อตกลงการหย่า
โดย
ณัฐภัทร เฟิร์ม
f.a.q.
รวมข้อถาม – ตอบ เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงการหย่า
คลิกที่หัวข้อเพื่อเลือกอ่าน
บันทึกข้อตกลงการหย่าหรือ สัญญาหย่าโดยความยินยอม เป็นสัญญาประเภทหนึ่งโดยที่มีคู่สมรสซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันนั้นเป็น คู่สัญญาอันได้แก่ สามี เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งและภรรยาเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าขึ้น เพื่อให้การสมรสของทั้งสองคนยุติหรือสิ้นสุดลง โดยในสัญญาดังกล่าวยังอาจกำหนด ผลเมื่อสิ้นสุดการสมรสเอาไว้ด้วยก็ได้ เช่น การแบ่งสิทธิและความรับผิดชอบในสินสมรสไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สิน อำนาจปกครองบุตร (ถ้ามี) หน้าที่การค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและ/หรือคู่สมรส หรือข้อตกลงอื่นๆ เป็นต้น
โดยทั่วไปการหย่าสามารถทำได้สองแบบ คือ (1) ด้วยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย โดยการทำแบบบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับนี้และนำไปจดทะเบียนการหย่า และ (2) ด้วย คำพิพากษาของศาลหรือที่มักเรียกว่าฟ้องหย่า โดยที่ บันทึกข้อตกลงการหย่า คู่สมรสที่ต้องการจะหย่าขาดจากกัน สามารถตกลงและจัดทำกันเองตามที่คู่สัญญาเห็นพ้องต้องกันโดยเมื่อจัดทำเสร็จแล้วก็สามารถนำไปจดทะเบียนหย่าได้ที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสถานกงสุลที่มีอำนาจรับจดทะเบียนหย่า นั้นได้เลย ซึ่งจะไม่ผ่านกระบวนการทางศาลทำให้ ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการหย่าได้
อย่างไรก็ดี บันทึกข้อตกลงการหย่าคู่สัญญาต้องยินยอมและเห็นพ้องตรงกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่มีความต้องการจะหย่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับกับเงื่อนไขที่อีกฝ่ายต้องการได้ หรือคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะความสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อ พูดคุย หรือเจรจากันได้แล้ว คู่สัญญาอาจเลือกใช้การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือฟ้องหย่าแทนการจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับนี้
ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่า ผู้จัดทำ รวมถึงคู่สมรสซึ่งเป็นคู่สัญญาควรมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้องแก่นายทะเบียนผู้จดทะเบียนหย่าตามบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับนี้ ควรอ้างอิงการจดทะเบียนสมรสที่คู่สัญญาต้องการจะหย่าด้วย เช่น เขตที่มีการจดทะเบียน เลขที่ทะเบียน
กำหนดข้อตกลงสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับผลหลังจากการหย่า เช่น
ผลเกี่ยวกับสินสมรส ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินสด หรือสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ ว่าจะให้ตกเป็นของใคร โดยรวมถึงหนี้สิน ต่างๆ ด้วย เช่น หนี้บัตรเครดิต ค่างวดบ้านที่ซื้อร่วมกัน ผู้ใดจะรับผิดชอบ เท่าใด และอย่างไร
ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกัน ควรจะตกลงเกี่ยวกับสิทธิการเลี้ยงดูและสิทธิการใช้อำนาจปกครองบุตรว่าจะให้ตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาดหรือร่วมกันปกครองบุตร ซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วย (ถ้ามี) หน้าที่การอุปการะเลี้ยงดูบุตรของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย สิทธิการเยี่ยมเยือนบุตรหรือการนำบุตรไปจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (เช่น การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะพาบุตรไปเที่ยวต่างจังหวัดโดยไม่มีคู่สัญญาอีกฝ่าย) ทั้งนี้ คู่สัญญาควรคำนึงถึง ผลประโยชน์และผลกระทบต่อบุตรเป็นสำคัญ อนึ่ง บุตรที่บิดามารดายังคงต้องปกครองดูแลอยู่ได้แก่ (ก) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และ (ข) บุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ (เช่น ผู้พิการทางร่างกายหรือสมอง) ไม่ว่าจะอายุเท่าใด
กำหนดข้อตกลงอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง บทลงโทษกรณีที่คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการหย่า เมื่อคู่สัญญาตรวจสอบและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ให้จัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดย ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนลงนามในบันทึกข้อตกลงการหย่าด้วย ทั้งนี้ จะต้องนำบันทึกข้อตกลงการหย่านั้นไปจดทะเบียนหย่ากับนายทะเบียน ด้วย เนื่องจากตามกฎหมายครอบครัว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่าจะมีผลเมื่อได้จดทะเบียนการหย่า นั้นตามกฎหมาย
เนื่องจากการหย่าโดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าจะไม่ผ่านศาล ดังนั้น ก่อนหรือในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงการหย่าระหว่างคู่สัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรปรึกษาทนายความก่อนที่ตนจะลงนามผูกพันในบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับดังกล่าว เนื่องจากด้วยอำนาจต่อรองที่ต่างกันระหว่างคู่สัญญาหรือความไม่รู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมาย อาจมีการยอมรับเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีที่มีการจัดทำ สัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ข้อตกลง/เงื่อนไขต่างๆ ที่จะตกลงกันในบันทึกข้อตกลงการหย่าฉบับนี้แล้วก็ ควรจะต้องสอดคล้องกับข้อสัญญาก่อนสมรสที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าดังกล่าวด้วย เว้นแต่ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยินยอมให้มีข้อตกลงที่แตกต่างไปจากสัญญาก่อนสมรสนั้น
ทั้งนี้ หากมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าตามที่กำหนดข้างต้นแล้ว แต่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมไปจดทะเบียนการหย่าตามที่ตกลงกัน
คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องศาลให้บังคับ ให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไปจดทะเบียนหย่าได้
ปรึกษาทนายความ หากคุณต้องการคำแนะนำส่วนบุคคลหรือความช่วยเหลือที่ตรงกับกรณีของคุณโดยเฉพาะ เราขอแนะนำให้คุณปรึกษาทนายความที่จะอุทิศเวลาในการทำงานให้กับคุณเป็นเวลา 30 นาที
การปรึกษาดังกล่าวจะเป็นไปในรูปแบบใด? ทนายความจะอุทิศเวลาการทำงานให้กับคุณเป็นเวลา 30 นาที คุณจะสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนทางโทรศัพท์กับทนายความได้เป็นเวลา 30 นาที คุณถาม ทนายความตอบ
ทนายความจะติดต่อฉันเมื่อไหร่และทางใด? ทนายความจะโทรศัพท์ติดต่อคุณภายใน 24 ชม. วันทำการหลังจากที่ได้รับการสั่งซื้อจากคุณ
ทำไมต้อง 30 นาที แล้วถ้าหากฉันต้องการเวลามากกว่านั้นล่ะ? จากประสบการณ์ของเราแล้ว ระยะเวลา 30 นาทีนั้นเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการนัดพบครั้งแรกกับทนายความ หากน้อยกว่านั้นทนายความอาจจะมีเวลาไม่พอที่จะตอบคำถามของคุณทั้งหมด หากมากกว่านั้นกรณีของคุณอาจจำเป็นต้องมีการทำงานในเชิงลึกมากกว่า หลังจากหมดเวลา 30 นาทีไปแล้วคุณสามารถซักถามกับทนายความต่ออีกได้
ADS.
โฆษณาของผู้สนับสนุนเรา
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักของเรา 062-4436667