การจดทะเบียน ตั๋วรูปพรรณ สัตว์ พาหนะ: เรามีคำตอบ
9 มกราคม 2564 ณ สำนักงานกฎหมายณัฐภัทร
ศึกษากฎหมายที่กำลังบังคับใช้แก่เกษตรกร อย่างตั๋วรูปพรรณ สัตว์ เตรียมพร้อมร่างกับร่างกฎหมายใหม่ และผู้เลี้ยงสัตว์พาหนะที่กำลังสงสัยในการจดทะเบียนสัตว์พาหนะ ต้องทำอย่างไร ศึกษาพร้อมกับเราเลย
การจดทะเบียนสัตว์พาหนะเพื่อให้ได้ซึ่ง “ตั๋วรูปพรรณ” ที่มีความหมายว่า เอกสารแสดงตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะ ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะพุทธศักราช 2482 ได้บัญญัติให้เจ้าของสัตว์บางประเภทต้องนำสัตว์ที่อยู่ในครอบครองไปจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณสัตว์ โดยสามารถแยกเป็นคำถาม-ตอบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจดังนี้
ต้องจดทะเบียนในสัตว์ชนิดใด
ก่อนอื่นท่านต้องทราบคำนิยามตามกฎหมายของสัตว์พาหนะเสียก่อนตามมาตรา 4 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
`สัตว์พาหนะ’ หมายความว่า ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา ซึ่งได้ทำหรือต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัตินี้และในพระราชบัญญัตินี้ตามมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า เมื่อสัตว์พาหนะดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่แปด
(2) สัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก
(3) สัตว์ใดได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้ว
(4) สัตว์ใดที่มีอายุย่างเข้าปีที่สี่ เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร
(5) โคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ในกรณีรับมรดก
ให้เจ้าของหรือตัวแทนพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน หรือพยานในกรณีที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านไปด้วยไม่ได้ นำสัตว์นั้นไปขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณจากนายทะเบียนท้องที่ที่สัตว์นั้นอยู่ภายในกำหนดดังต่อไปนี้ เว้นแต่ไม่สามารถที่จะนำไปได้
ดังนั้น สัตว์พาหนะที่ต้องจดทะเบียน คือกรณีตาม (1) – (5)
แล้วทำไมต้องจดทะเบียน ตั๋วรูปพรรณ สัตว์
-เพราะในกรณีที่ท่านจะโอนสัตว์เพื่อซื้อหรือขายให้ได้รับกรรมสิทธิและมีผลตามกฎหมาย สัตว์พาหนะนั้นจะต้องมีตั๋วรูปพรรณสัตว์เพื่อดำเนินการในขั้นตอนจดทะเบียนการโอนกับนายทะเบียนตามาตรา 14
มาตรา 14 การโอนกรรมสิทธิ์สัตว์พาหนะ ให้ผู้โอนและผู้รับโอนทั้งสองฝ่ายหรือตัวแทนนำสัตว์พาหนะและตั๋วรูปพรรณไปยังนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเป็นการถูกต้องและได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้จดทะเบียนและสลักหลังตั๋วรูปพรรณโอนกรรมสิทธิ์ให้ถ้าเป็นสัตว์ต่างท้องที่ให้นายทะเบียนรับสัตว์นั้นขึ้นทะเบียนเสียก่อน…”
-ป้องกันการสับสน หรืออ้างสิทธิในสัตว์พาหนะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหากมีการทำบันทึกตำหนิด้วยตั๋วรูปพรรณสัตว์จะสามารถยันสิทธิของตนได้
– ป้องกันการถูกยึดสัตว์จากเจ้าพนักงานปกครองตามมาตรา 21
มาตรา 21 ถ้าปรากฏว่าผู้ใดครอบครองสัตว์พาหนะไว้โดยไม่มีตั๋วรูปพรรณ หรือมีแต่ไม่ถูกต้องกับตัวสัตว์ เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะยึดสัตว์พาหนะนั้นไว้ และนำส่งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้เป็นหน้าที่ผู้นั้นแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์ว่าตนเป็นเจ้าของ หรือได้สัตว์มาโดยสุจริต….”
-ทั้งนี้ มีโทษปรับและจำคุกตามกฎหมายเล็กน้อย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เช่นตามมาตรา 27
มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 13, 18 หรือมาตรา 24 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบสองบาท
ตั๋วรูปพรรณ สัตว์ ต้องจดทะเบียนที่ไหน อย่างไร
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย
สถานที่ให้บริการ: พื้นที่กทม. ณ สำนักทะเบียนเขต
สำหรับต่างจังหวัด ณ สำนักทะเบียนอำเภอท้องถิ่น
ติดต่อด้วยตนเอง ณ หน่วยงาน
ระยะเวลาเปิดให้บริการ เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดที่ทางราชการกำหนด) ตั้งแต่เวลา 08:30 – 16:30 น. (มีพักเที่ยง)
โดยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนสัตว์พาหนะ ผู้ยื่นคำร้องต้องยื่นในท้องที่ที่สัตว์พาหนะนั้นอยู่และสัตว์ที่สามารถจดทะเบียสัตว์พาหนะได้ และให้เจ้าของหรือตัวแทนพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านหรือพยานนำสัตว์พาหนะไปจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณต่อนายทะเบียนท้องที่ที่สัตว์นั้นอยู่เมื่อนายทะเบียนพร้อมด้วยเจ้าของสัตว์หรือตัวแทนได้ตรวจสอบตำหนิรูปพรรณเห็นเป็นการถูกต้องเมื่อได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้วจึงจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณให้
ใช้เอกสารหรืออะไรไปดำเนินการบ้าง
1) บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง 1 ฉบับ
2) ผู้ใหญ่บ้านหรือพยาน 1 คน (ปกติจะเป็นเจ้าพนักงานในอำเภอ)
3) ต้องนำสัตว์พาหนะที่จะทำทะเบียนตั๋วรูปพรรณ เพื่อไปตรวจลักษณะและบันทึกในตั๋วรูปพรรณ
ทั้งนี้ เรามีข้อแนะนำว่าคุณควรติดต่อไปยังสำนักทะเบียนเขต/สำนักทะเบียนอำเภอท้องถิ่นนั้นๆล่วงหน้าเสียก่อน ก่อนที่คุณจะนำสัตว์เข้าไปเพื่อจดทะเบียนเพราะโดยมากแล้ว เจ้าพนักงานมักนัดแนะคุณเพื่อเดินทางไปพื้นที่ของคุณแทนในการตรวจลักษณะและบันทึกตั๋วรูปพรรณนอกสำนักงาน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วแก่ทุกฝ่าย