หมิ่นประมาท คือ
วันนี้จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ ความผิดฐานซุบซิบนินทาชาวบ้าน.. ที่กฎหมายเรียกว่า.. “หมิ่นประมาท” การนินทาเป็นความผิด เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ประชาชนนินทาคนอื่นลับหลัง ..
เนื่องจากการนินทานั้น แม้เป็นความจริง ..แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญแก่บ้านเมือง การนินทานั้น ก็อาจเป็นเหตุแห่งความแตกแยก.. แต่ถ้าการนินทาใส่ร้ายนั้นเป็นความจริงแล้วจะเป็นประโยชน์แก่การปกครองประเทศ.. ประชาชนย่อมมีสิทธินินทาได้ ..
เพราะเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น (right to expression).. กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นข้อยกเว้นไว้..ให้พูดใส่ร้ายกรณีนี้ได้โดยไม่เป็นความผิด..
สรุปคร่าวๆได้ ดังนี้
1. หมิ่นประมาท.. คือการใส่ความคนอื่น ให้อีกคนหนึ่งฟัง..โดยยืนยันความจริงบางอย่าง..
แต่ดูหมิ่น ไม่ใช่เรื่องยืนยันเรื่องอะไร.. อาจเป็นแค่คำด่า เพื่อให้คนฟังเจ็บใจ.. ถ้าเจตนาด่าให้อีกฝ่ายเจ็บใจต่อหน้าให้รู้แค่คนถูกด่า.. ก็ผิดดูหมิ่นซึ่งหน้า.. ถ้าด่าอีกฝ่ายโดยมีเจตนาให้คนอื่นรู้ไปทั่ว (ด่าประจาน).. เช่น ทางสื่อออนไลน์.. ก็ผิดดูหมิ่นโดยการโฆษณา.. มีโทษเท่ากันครับ..
2. การใส่ความเพื่อ หมิ่นประมาท คือ การกล่าวอ้างยืนยันข้อเท็จจริงบางอย่างว่าเป็นจริง…
แต่ความจริงๆนั้น อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง.. คนใส่ความก็ผิดได้..
3. การกล่าวใส่ความยืนยันข้อเท็จจริงนั้น.. อาจกล่าวตรงๆ หรือกล่าวเป็นนัย หรือเปรียบเทียบเปรียบเปรย.. ก็ผิดได้ เช่น สส. โกงกิน. หรือ กินน้ำใต้ศอก หรือสุนัขรับใช้ หรือเฮงซวย.. ถ้าต้องตีความหมาย คู่ความต้องนำสืบความหมายที่เขาพูดก่อน.. แล้วศาลจะเป็นคนตัดสินว่า ถ้อยคำนั้น เป็นการใส่ความ ทำให้คนอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่..
4. การกล่าวใส่ร้ายคนอื่นนั้น.. อาจระบุชื่อคนอื่นอย่างชัดเจน.. หรือระบุแค่อักษรย่อ .. หรือระบุชื่อสมมุติ.. หรือไม่ได้ระบุชื่อเลย.. ก็ผิดได้.. ถ้าดูจากพฤติการณ์ของผู้พูดแล้ว.. ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่า ..ผู้พูดหมายถึงใคร..
5. แม้ไม่ระบุชื่อ.. แต่ก็ต้องเฉพาะเจาะจงให้รู้ตัวบุคคล.. หากกล่าวเพียงกว้างๆ เจาะจงตัวไม่ได้.. ก็ไม่มีผู้เสียหายที่จะดำเนินคดี.. เช่น พระรูปหนึ่งในวัดนี้ ปาราชิกเสพเมถุน (ไม่ผิดเนื้องจากคนฟังไม่รู้ว่า เป็นพระรูปใดเพราะวัดนี้มีพระเยอะ) หรือ คนไทยเลวทุกคน ..ไม่ผิดเพราะไม่รู้ว่าคนไหนเลว..
แต่ถ้าพระในวัดมีแค่ 6 รูป ศาลฎีกาเคยตัดสินว่า ..แบบนี้ ใส่ความเฉพาะเจาะจงแล้ว พระรูปหนึ่งรูปใดก็เป็นผู้เสียหายดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทได้..
6. การใส่ความนั้น.. ต้องน่าจะทำให้คนอื่นนั้นเสียชื่อเสียง หรือถูกเกลียดชัง.. เช่น กล่าวว่า นางสร้อยเป็นเมียน้อย แย่งผัวเขามา หรือ นางแดงท้องไม่มีพ่อ หรือ นายชายเป็นแมงดา หรือ นางนกตอแหล เป็นต้น
7. การใส่ความ อาจทำด้วยการพูด การเขียน การวาดรูป การโพสต์ข้อความ หรือการโพสต์รูปภาพ ก็ได้..
8. หมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับ.. แต่เป็นความผิดยอมความได้..
9. คดีหมิ่นประมาท ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ ภายใน 3 เดือนต่อตำรวจเพื่อให้อัยการฟ้องศาล..
10. ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์.. ตำรวจจะไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดี.. แม้จับคนใส่ความมาแล้ว ก็ต้องปล่อยไป..
11. คดีหมิ่นประมาท ผู้เสียหายอาจไม่แจ้งความตำรวจก็ได้.. แต่ต้องตั้งทนายความฟ้องศาลเองภายใน 3 เดือน.. กรณีนี้ ตำรวจจะไม่มีอำนาจดำเนินคดี และพนักงานอัยการ ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง..
12. คดีหมิ่นประมาท คู่กรณีมีสิทธิยอมความกันได้ตลอดเวลา.. ถ้าร้องทุกข์ไว้แล้ว.. ก็ถอนคำร้องทุกข์ได้ ถ้าฟ้องคดีไปแล้ว..ก็ถอนฟ้องได้..
13. การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คือใส่ความเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ .. เช่น ปิดประกาศ ลงหนังสือพิมพ์ ใช้ไมโครโฟน ออกอากาสทางวิทยุหรือโทรทัศน์ หรือโพสต์ข้อความแบบสาธารณะในเฟสบุ๊ค ในไลน์ เป็นต้น โทษหนักขึ้น เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ก็ยังยอมความได้อยู่..ถ้าผู้เสียหายเขาไม่ติดใจ..
14. คนที่ใส่ร้ายคนอื่น ทำให้คนอื่นเสียหายนั้น ไม่ว่าเป็นคนธรรมดา หรือเป็นสื่อมวลชล ก็มีความผิดได้เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้น..
15. ข้อยกเว้นใหญ่ๆของหมิ่นประมาท มี 3 ข้อ..
1) พูดเพื่อป้องกันสิทธิโดยชอบธรรมและสุจริต คือ ถ้าไม่พูดตนเองจะเสียหาย.. เช่น ก. เห็นข. ขโมยเงินของตน จึงไปแจ้งกำนันว่า ข. ลักทรัพย์ .. แบบนี้ ก. ไม่ผิด..
2) ติชมโดยสุจริตและเป็นธรรม ในฐานะของประชาชน.. มักเป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับสื่อ หรือบุคคลสาธารณะ .. เช่น ดารา นักร้อง นางงาม นักการเมือง เช่น นักร้องคนนี้น้ำเสียงแย่มาก หรือ ดาราคนนี้หน้าตาน่าเกลียด หรือนักการเมืองคนนี้พูดจาไม่น่าเชื่อถือ .. หรือสื่อฉบับนี้เลือกข้าง..แบบนี้ ประชาชนที่นินทา ไม่ผิด..
3) พิสูจน์ได้ว่า ที่ใส่ความนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ..เป็นความจริง และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว.. กรณีนี้ ผู้เสียหายมักเป็น บุคคลที่มีส่วนได้เสียต่อประโยชน์ของชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี อธิบดี นักการเมือง.. เช่น นายกฯ สส. อธิบดี คนนี้โกงชาติ หรือทุจริต
ทั้งนี้ คนที่ใส่ความอาจเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นคนธรรมดาก็ได้.. เมื่อใส่ความไปแล้ว.. และถูกฟ้อง ศาลอาจยอมให้เขาพิสูจน์ได้.. ถ้าข้อกล่าวหานั้นเป็นความจริง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของประเทศ.. แบบนี้ ก็ไม่ต้องรับโทษ..
แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ที่จะไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นความจริง ศาลก็ไม่ให้พิสูจน์.. คนพูดต้องรับโทษ.. ไม่ว่าคนพูดเป็นคนธรรมดา หรือสื่อ.. เช่น อธิบดีคนนี้ติดเฟส ติดเกมส์..
16. การเป็นนักข่าว ผู้สื่อข่าว หรือสื่อมวลชนต่างๆ..ไม่ได้รับยกเว้นความรับผิด.. เว้นแต่จะอ้างว่า ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เช่น ข้อ 15. 3) เป็นต้น
17. ทนายความ แสดงความเห็นใส่ความอีกฝ่าย เพื่อประโยชน์แก่ลูกความตน .. ถ้าได้ทำในศาล (ในกระบวนพิจารณาคดี).. ก็ไม่ผิด
18. หมิ่นประมาทตามพรบ. คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพให้อับอายเสียหาย เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์.. ไม่ใช่การใส่ความ.. จึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา.. แต่การใช้คอมพิวเตอร์ในการใส่ความ เช่น โพสต์ข้อความใส่ความที่ตั้งเป็นสาธารณะ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้..
19. หมิ่นประมาท เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา.. แต่ไม่เป็นความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จตามมาตรา 14(1) พรบ. คอมพิวเตอร์..เพราะมาตรานี้ เขาร่างมาเพื่อใช้กับการส่งข้อความเท็จมาหลอกให้เราส่งข้อมูลส่วนตัวของเราไปให้เขา เช่น เบอร์บัญชีธนาคาร รหัสส่วนตัว รูปภาพของเราเท่านั้น.. ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน และไม่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทเลย..
แต่เขาใช้คำในกฎหมายว่า “ข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่บิดเบือน” คนเลยตีความว่าอะไร ที่ไม่เป็นความจริง จะผิดพรบ. คอมพิวเตอร์หมด.. คนผิดหมิ่นประมาทก็เลยโดนพรบ. คอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย.. แทนที่จะทำความเข้าใจใหม่ว่า หมิ่นประมาท เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น .. ไม่ผิดพรบ. คอมพิวเตอร์ด้วย..
กลับมีการแก้กฎหมายใหม่ว่า มาตรา 14(1) นี้ไม่รวมความผิดหมิ่นประมาทด้วย.. ก็ดีที่ทำให้ไม่ใช้มาตรานี้กับคนที่ทำผิดหมิ่นประมาท.. แต่ควรแก้ไขที่การทำความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องแก้กฎหมายจะดีกว่า.. เพราะยิ่งแก้ ยิ่งหลงป่า.. แต่ความเชื่อผิดๆที่ว่า โพสต์อะไรไม่จริง จะผิดมาตรา 14(1) พรบ. คอมพิวเตอร์ก็ยังมีอยู่ในหมู่ผู้ใช้บังคับกฎหมาย.. ทำให้การส่งข้อความมาหลอกเอาเงิน และโพสต์เรื่องไม่จริง ยังถูกดำเนินคดีตามพรบ. คอมพิวเตอร์อยู่..
เฮ้อ…ก็คงต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อไป..
20. ความผิดฐานดูหมิ่น.. (ไม่ใช่หมิ่นประมาท) เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้.. แต่มีโทษน้อย เป็นลหุโทษ.. ถ้าตำรวจรู้ ต้องดำเนินคดี.. แต่ถ้ายอมรับผิดเสียค่าปรับ คดีก็จบได้..
สรุปได้อีกว่าเรื่องหมิ่นประมาทนั้น…
กฎหมาย ไม่ต้องการให้คนด่ากัน หรือนินทาใส่ความกัน.. ถึงแม้การใส่ความ อาจจะเป็นความจริง .. แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง.. กฎหมายก็อยากให้เราเฉยไว้ครับ..
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ หรือหลักสิทธิมนุษยชนก็ดี.. มีขอบเขตและหลักเกณฑ์เหมือนกัน คือ ..“การใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดนั้น ..ต้องไม่ทำผิดต่อกฎหมาย.. และต้องไม่มี hate speech .(คำพูดที่ทำให้เกิดความรุนแรง ยุยงให้ทำลายล้าง เกลียดชังกัน)..”
นั่นคือ ..แม้เราจะมีเสรีภาพในการพูดและเเสดงความเห็น.. แต่จะต้องไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่น.. และต้องไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท.. นั่นเอง..
ผมจำได้ว่า พ่อหลวงท่านเคยกล่าวไว้ เป็นสำคัญตอนหนึ่งว่า.. “จงทำหน้าที่ของแต่ละคน ตามบทบาทของตนให้ดีที่สุด..”แต่ผมเข้าใจต่อไปเองว่า.. “และจงอย่ายุ่งเรื่องคนอื่น.. ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง..”
ท้ายนี้ ณัฐภัทร เฟิร์ม ขอขอบคุณทาง สำนักงานกิจการยุติธรรม และขอขอบพระคุณท่าน ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ที่แบ่งปันความรู้กฎหมายให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ วันนี้ขอลาไปก่อนหวังว่าทุกคนจะเข้าใจหลักกฎหมายของการ หมิ่นประมาท มากขึ้นไม่มากก็น้อย หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ ขอบคุณครับ