ในปัจจุบันที่ผู้คนใช้เวลาไปกับการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค(Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) วันละหลาย ๆ ชั่วโมง รวมถึงการซื้อของและขายของในแฟนเพจ (Fanpange) หรือ ไอจี (IG) มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นก็คือ การซื้อ-ขายเฟซบุ๊กแฟนเพจ หรือ ไอจีแอคเคาท์ ที่มีราคาสูงตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามบัญชีผู้ใช้นั้น ๆที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมพอที่จะ มีมูลค่าเป็นทรัพย์สิน
จากปรากฏการณ์ที่น่าสนใจนี้ “สำนักงานกฎหมายณัฐภัทร” อยากให้คำแนะนำทางกฎหมาย และหลักปฎิบัติที่จะทำให้การซื้อขายแฟนเพจ หรือไอจี ร้านค้าเหล่านั้นปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญที่สุดต้องถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับในประเทศไทยการซื้อขายแฟนเพจ หรือไอจีร้านนั้น “ยังไม่ผิดกฎหมาย” และสามารถค้าขายกันได้อย่างเสรีในปัจจุบัน แต่ในอนาคตนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าจะมีกฎหมายตราขึ้นเพื่อควบคุมต่อไป เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่พึ่งออกมาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น กำลังเล็งเห็นว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” นั้นมีมูลค่าและอาจถือเป็นทรัพย์สินได้ ซึ่งแฟนเพจหรือไอจีร้านค้าต่างๆมักมีการรวบรวม ชื่อ-นามสกุล ,ที่อยู่ , รูปภาพ หรือข้อมูลอื่นใดที่สามารถบ่งถึงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้นั่นเอง ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคตหลังจาก พระราชบัญญัติฉบับนี้ย่อมมีกฎหมายลูกออกมาเพื่อควบคุมตามมา
สำหรับขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายแฟนเพจ หรือไอจี ที่ทางทนายความต้องการแนะนำและชี้แนะท่านผู้เข้าชมเว็บไซต์ สามารถพิจารณาเพื่อปรับใช้กับวัตถุประสงค์หรือความต้องการของตนหรือตรวจสอบเงื่อนไขการเข้าทำสัญญาเพื่อลดความเสี่ยงในข้อพิพาทด้านกฎหมายได้เบื้องต้น ดังนี้
ทำสัญญาการโอนลิขสิทธิ์ (Copyright Transfer)
การโอนบัญชีผู้ใช้งานที่มีมูลค่าในตลาดนี้อาจจะโอนแก่กันทางมรดกก็ได้ หรือโอนโดยทางสัญญาก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นการโอนทางสัญญา สัญญาโอนลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้านั้นนั้น “ต้องทำเป็นหนังสือ” โดยการโอนลิขสิทธิ์ก็คือ การให้ผู้รับโอนได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์นั้นซึ่งถูกรับรองตามกฎหมายและใช้ยันสิทธิ์ ต่อสู้คดีได้หากเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้นในอนาคต ผู้รับโอนแล้วจักมีสิทธิในการทำซ้ำ เผยแพร่ อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไปได้อีก โดยกฎหมายได้กำหนดอายุการโอนลิขสิทธิ์เอาไว้ คือถ้าการโอนนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ ให้การโอนนั้นมีผล 10 ปี
สำหรับตัวอย่าง สัญญาการโอนสิทธินี้สามารถ ดาวน์โหลดได้ที่นี่
ทั้งนี้ ตัวอย่างร่างสัญญาดังกล่าว ไม่ได้ระบุถึงบทลงโทษ ขอบเขตการใช้งาน วิธีในการส่งมอบ ความปลอดภัย ข้อสัญญาการห้ามแข่งขันในธุรกิจประเภทเดิมหลังการโอน และ เงื่อนไขอื่นๆที่จำเป็นและครอบคลุมอย่างครบถ้วนโดยละเอียด หากแต่เผยแพร่เป็นแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการให้ทนายความร่วมร่างสัญญาเพื่อใช้งานจริง กรุณาติดต่อเรา เพื่อรับคำปรึกษาและบริการอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องคดีหรือข้อพิพาทขึ้นในอนาคต
มีการลงนามและหลักฐานของคู่สัญญา (Witnesseth)
อย่างไรก็ดีเพื่อความชัดเจนในเงื่อนไขสำคัญต่างๆ อันเกี่ยวกับการซื้อขายเพื่อโอนสิทธิ์ ในการซื้อขายแฟนเพจ หรือไอจี จะต้องมีการลงนามของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และแจ้งให้รู้และทราบถึงบทบาท สิทธิ บทลงโทษ และหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติของบัญชีที่ซื้อขาย จำนวนปริมาณ ราคาค่าใช้จ่ายระยะยาวและสั้นต่างๆ และเงื่อนไขการใช้งาน การส่งมอบบัญชีผู้ใช้โดยวิธีการใด การโอนกรรมสิทธิ์และการรับประกัน และเงื่อนไขอื่นๆอย่างการลงโทษเมื่อผิดสัญญา
ทั้งนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรจะขอเอกสารแสดงตัวตนของอีกฝ่ายหนึ่งที่เจ้าของเอกสารลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เพื่อสามารถอ้างอิงลายมือชื่อที่ลงไว้ในสัญญาว่าเป็นของบุคคลนั้นจริง เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่รับรองสำเนาถูกต้องของคู่สัญญาผู้นั้น สำหรับคู่สัญญาที่เป็นบุคคลธรรมดา
และสำเนาหนังสือรับรองและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลที่ลงชื่อในสัญญานี้ บุคคล เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่คู่สัญญานั้นเป็นนิติบุคคลโดยเอกสารที่เป็นสำเนาและเป็นเอกสารของบุคคล ต้องให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของเอกสารนั้นลงนามรับรองสำเนาด้วย ในกรณีที่เจ้าของเอกสารนั้นเป็นนิติบุคคล เช่น หนังสือรับรอง หรือสำเนาเอกสารอื่นใดที่เป็นของนิติบุคคล ผู้ลงนามและเงื่อนไขการลงนามรับรองสำเนาถูกต้องจะต้องเป็นไปตามผู้ลงนามและเงื่อนไขการลงนามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้ลงนามและเงื่อนไขเหมือนกับการลงนามในสัญญา
สำหรับท่านใดที่ต้องการให้ทนายความให้คำปรึกษา ,ร่วมร่างสัญญาซื้อขายเพจ หรือไอจีเพื่อใช้งานจริง ,ประสบปัญหาทางกฎหมายหรือข้อพิพาทในการซื้อขายแฟนเพจไอจี กรุณาติดต่อเรา เพิ่มเติมเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ขอบคุณครับ