สารบัญ
การเล่นแชร์ เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ?
“การเล่นแชร์” นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้คนของสังคมไทยทุกระดับ โดยส่วนใหญ่จะเล่นกันในหมู่คนที่ใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะต้อง อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันพอสมควร ทั้งนี้เพราะการเล่นแชร์นั้นทําให้ คนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยสถาบันการเงิน หรือ การกู้เงินนอกระบบซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูงมาก และคนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถได้รับ ผลตอบแทนจากการเล่นแชร์นั้นมากกว่าที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน
แต่อย่างไรก็ตาม ในการเล่นแชร์นั้นบางครั้งก็มีความเสี่ยงเนื่องจากนายวงแชร์ (เท้าแชร์) ที่เป็นผู้รวบรวม เงินจากลูกแชร์ในแต่ละงวดนั้น มักจะโกงหรือเชิดเงินเหล่านั้นหนีหายไป รวมทั้งกรณี สมาชิกลูกวงแชร์ไม่จ่ายเงินแชร์ตามที่กําหนดกันไว้ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่ามีการโกงแชร์กัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าการเล่นแชร์นั้นจะเป็นความผิดตาม กฎหมายใดหรือไม่ อย่างไร และในกรณีที่มีการโกงแชร์กันเกิดขึ้น ใครเป็นผู้เสียหาย และสามารถฟ้องร้องดําเนินคดีกันได้หรือไม่ อย่างไร และในกรณีที่ข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ของรัฐเล่นแชร์นั้น จะเป็นความผิดทางวินัยหรือไม่ อย่างไร มาพบคำตอบกันครับ
แล้ว….
ไอ้คำว่า “เล่นแชร์”
มันคืออะไรกันนะ ?
ความหมายของการเล่นแชร์
การเล่นแชร์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมาย คําว่า “แชร์” หมายถึง การลงหุ้นเป็นจํานวนเงินและตามวาระที่กําหนดแล้วประมูล ว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร ผู้ลงหุ้นที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินก่อน เวียนไปจนครบ จํานวนผู้เล่น, เรียกการลงหุ้นเช่นนั้นว่าเล่นแชร์
การเล่นแชร์ ในทางกฎหมาย หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่สามคน ขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลาง แต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุน ในลักษณะอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวงด้วย ดังนั้น จึงอาจมี การแข่งขันกันประมูลเงินทุนกองกลางโดยการให้ดอกเบี้ย หากสมาชิกในวงแชร์คนใดเสนอให้ดอกเบี้ยสูงสุดในการประมูล ทุนกองกลางในงวดนั้นก็มีสิทธิได้รับเงินทุนกองกลางในงวดนั้นไป
ในกรณีที่นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติของกฎหมายถือว่านายวงแชร์มีความผิดตามกฎหมาย แต่ไม่เป็นเหตุให้สมาชิกวงแชร์หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้อง ใช้เงินแก่สมาชิกที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์จากทุนกองกลางนั้น ดังตัวอย่างคําพิพากษา ดังนี้
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐/๒๕๔๓
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา 5 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ในมาตรา 5 และมาตรา ๗ ให้สิทธิแก่สมาชิก วงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มี การเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 5 ไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มี บทบัญญัติห้ามเล่นแชร์เกินกว่าจํานวนที่กําหนดไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาเกิดจาก การตกลงกันระหว่างผู้เล่นที่จะชําระเงินให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้จึงมีผลผูกพันและบังคับ กันได้ตามกฎหมาย การที่ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนนําเช็คของจําเลยมาชําระ ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ การชําระหนี้ค่าแชร์ดังกล่าวจึงหาเป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่
ลักษณะของแชร์ออนไลน์ แบ่งเป็น ๒ รูปแบบ
รูปแบบที่หนึ่ง คือ การเล่นแชร์ออนไลน์ที่มีพฤติการณ์แบบขอกู้หนี้ นอกระบบ กล่าวคือ เท้าแชร์หรือนายวงแชร์ จะเชิญชวนเพื่อน ๆ จากกลุ่มเฟซบุ๊กมาตั้ง เป็นกลุ่มไลน์ ที่มีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบแอบแฝงแชร์ออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะ เป็นการเล่นแชร์ในระยะสั้น ๆ ที่ประกาศเปิดวงแชร์โดยเงินที่ประมูลเป็นเงินของเท้าแชร์ และให้สมาชิกในกลุ่มประมูลหรือเสนอเงินดอกเบี้ยที่สูงพร้อมกําหนดการส่งเงิน ดอกเบี้ยและเงินต้นที่แน่นอน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้
รูปแบบที่สอง คือ การเล่นแชร์ออนไลน์แบบ แชร์ทั่วไปแต่อาศัยสื่อเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ ที่มีพฤติกรรม เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง โดยมีการตั้งกลุ่มเชิญชวน เพื่อนจากเฟซบุ๊กมาตั้งกลุ่มในไลน์ ซึ่งมีสมาชิกจํานวนมากจึงตั้ง เป็นหลายวงมีกําหนดส่งเงินเป็นงวด แต่ละงวดเท่ากันตามจํานวน สมาชิกที่เล่น และมีการเก็บค่าดูแลวงแชร์ เมื่อสมาชิกส่งเงินงวด ให้ตามกําหนดพร้อมทั้งประมูลหรือเปียแชร์ โดยเสนอดอกเบี้ยที่สูงที่จะจ่ายใน งวดต่อไป ผู้ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินกองกลางไป แต่เท้าแชร์ไม่ส่งเงินให้แก่สมาชิก ที่ประมูลได้ตามจํานวนของวงเงินที่กําหนดไว้ที่จะจ่ายในงวดต่อ ๆ ไป หรือเท้าแชร์ หลอกลวงโดยไม่มีการประมูลจริง เท้าแชร์แค่อ้างว่ามีการประมูลผลตอบแทนขึ้นเพื่อ เท้าแชร์จะได้เงินจากสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกที่ร่วมเล่นแชร์ดังกล่าวนั้นเกิดความเสียหาย ต่อทรัพย์สินเป็นจํานวนมาก
สําหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังตัวอย่างตามคําพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๙๒๖/๒๕๔๔
เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหาย ทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จําเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหาก ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด จําเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่ง จําเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก
ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ บัญญัติไว้ แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจํานวน วงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่า สามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจําเลยจัดให้มี การเล่นแชร์โดยมีจําเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้า องค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๑๗ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แต่ความผิด ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็น ผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔
จําเลยเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์รวม ๗ วง จําเลยรวบรวมเงิน จากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวด จําเลยจัดให้มีการ ประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจําเลย การประมูลแชร์ ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว และตามคําฟ้อง โจทก์ ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้อง เงินกองกลางที่จําเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมส่งให้จําเลย ไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไป กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้ว มิได้เป็นของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมต่อไปอีก และหากผู้เสียหายและโจทก์ร่วม ไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิกไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม จําเลยในฐานะที่เป็น เจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทน ความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจําเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายและโจทก์ร่วม
แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจําเลยจัดให้มีการเล่นแชร์ แต่ละวงจะแตกต่างกันอยู่ และไม่มีวันใดมีการเริ่มเล่นแชร์ขึ้นใหม่พร้อมกันถึง ๓ วง ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจํานวนวงแชร์รวมกัน มากกว่าสามวงเท่านั้น มิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวง ดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อแชร์ที่จําเลยจัดให้มี การเล่นทั้งหมดซึ่งมีจําเลยเป็นนายวงแชร์อยู่มีจํานวนรวมกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่า ๓ วง ตามที่จํากัดจํานวนไว้ในกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าการกระทําของจําเลย เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 5
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๑๗ และประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบมาตรา ๙๑ สําหรับความผิดตามพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วม คงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใด ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๘
สําหรับความผิดเกี่ยวกับการเล่นแชร์นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการกระทําความผิดไว้ โดยขอนํา เสนอเฉพาะประเด็นสําคัญ ๆ ดังนี้
1. ความผิดฐานเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา ๖
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ กําหนดว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจํานวนวงแชร์ รวมกันมากกว่าสามวง
(๒) มีจํานวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
(๓) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า จํานวนที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง
(๔) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือ ทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้ มีการเล่นแชร์ด้วย
แต่อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในมาตรา ๖ นี้ ไม่กระทบกระเทือนถึง การที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มี การเล่นแชร์”
สําหรับโทษของผู้กระทําความผิดนั้นได้กําหนดไว้ในมาตรา ๑๗ ว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
2. ความผิดฐานโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการ เล่นแชร์ตามมาตรา ๙
ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้กําหนดห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
โดยสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่า ในปัจจุบันมีบุคคลโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมเล่นแชร์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) และแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ที่เรียกว่ากันว่า “แชร์ออนไลน์” ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มบุคคลที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว การชี้ชวนให้ มีการเล่นแชร์ออนไลน์ดังกล่าวนี้ เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์
พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๙ ที่กําหนดห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม ในการเล่นแชร์ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท นอกจากนี้ ยังอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย
3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ในกรณีที่นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มากกว่า ตวง หรือมีสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน นอกจากจะเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งต้อง ระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับแล้ว ในกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อสมาชิกในการ ประมูลเงินทุนกองกลางยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ อีกด้วย ดังตัวอย่างตามคําพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๓๙/๒๕๕๗
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ จํานวนสมาชิกวงแชร์รวมกัน ทั้ง ๕ วง มี ๓๕ คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖ (๑) (๒) ห้ามมิให้บุคคล ธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจํานวนวงแชร์รวมกันมากกว่า ตวง หรือมีจํานวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจํานวน ๒๘ คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจําเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง ๕ วง มิใช่จํานวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง ๕วงรวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทําของจําเลยว่าได้กระทําการเป็นนายวงแชร์ จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง ๕ วง นับแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม๒๕๔๒ โดยมีจํานวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน อันเป็นการกระทํา ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว และ ต่อมาจําเลยยังได้กระทําความผิดฐานฉ้อโกง ผู้เสียหายทั้ง ๒๘ คน ด้วยการหลอกลวง ว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่า ผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิก ผู้นั้น และบางงวดจําเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลาง โดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจําเลยได้ เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทําของจําเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็น นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทําต่างฐานความผิด ด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําความผิดหลายกรรม ต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบ องค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน
4. ความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนจะต้องชําระเงินให้นายวงแชร์ เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจําต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ กล่าวคือ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้แล้วจะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ประมูล โดยนายวงแชร์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าวจนกว่า ลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจํานวนที่มีสิทธิได้ แม้จะเป็นการ สั่งจ่ายเช็คในการส่งใช้เงินทุนกองกลางก็สามารถบังคับได้หาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายไม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน สามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่าย จําต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทําให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทําได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกําหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่”
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๖๕/๒๕๔๙
ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์ แต่ละคนต้องชําระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญา แต่ละฝ่ายจําต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้แล้วจะ ต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ประมูล โดยนายวงแชร์ยังมีหน้าที่ รับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าวจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบ ตามจํานวนที่มีสิทธิได้
จําเลยในฐานะนายวงแชร์จึงยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินที่ลูกแชร์ ผู้ประมูลได้แล้วคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่น ๆ ที่ยัง ไม่ได้ประมูลจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบ ตามจํานวนที่มีสิทธิได้ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนไม่ครบจําเลย จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๓/๒๕๔๕
จําเลยซึ่งเป็น ผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืน โดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็ค พิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้ว เมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ใน ครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชําระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจําเลย โดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔ การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะ ประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จําเลยชําระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่ โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้มโจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่าย ในเช็คพิพาทและนําไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วย กฎหมาย และวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาท เรียกเก็บเงินไม่ได้จําเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชําระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๔ ประกอบมาตรา ๔๘๕
การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่าง สมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชําระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มี มูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้นมีการรับเงิน และผู้กู้ยืมเงินตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีการประมูลจ่าย ผลตอบแทนดังเช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณี ที่กําหนดดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตรา ดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของ
สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้ แก่สมาชิกลูกวงแชร์ด้วยกันที่มีจํานวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูล จึงไม่อยู่ในข่ายเป็นความผิดตามพระราชกําหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ทั้งในทางนําสืบของจําเลยก็รับว่าเมื่อจําเลยประมูลแชร์ได้ก็จะสั่งจ่ายเช็ค มอบให้แก่ ป. นายวงแชร์ซึ่งมิใช่นิติบุคคล การเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่
5. กรณีการเล่นแชร์ของข้าราชการและพนักงานในองค์กร ของรัฐ
เดิมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘ เห็นชอบตามที่ กระทรวงการคลังได้เสนอเกี่ยวกับการห้ามข้าราชการและพนักงานขององค์การรัฐบาล เล่นการลงแชร์ โดยเหตุว่าการหาผลประโยชน์โดยวิธีการที่เรียกกันว่า “ลงแชร์, เล่นแชร์, ประมูลแชร์, เปียแชร์” หรือเรียกอย่างอื่นก็ตาม อันมีทํานองว่าคนหมู่หนึ่ง เข้ากันจัดเป็นวงหนึ่ง ออกเงินเป็นรายเดือน ฯลฯ คนละเท่า ๆ กัน รวมเข้าเป็นเงิน กองทุนกลาง แล้วผลัดกันชักกองทุนนั้นไปใช้สอยโดยเสียดอกเบี้ยถือลําดับตามที่ใคร จะเป็นผู้ประมูลให้ดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดประจําเดือน (หรือระยะเวลาหนึ่ง ๆ นั้น บัดนี้ มีข้าราชการและพนักงานขององค์การรัฐบาลนิยมแพร่หลายกันขึ้นอีก การที่ข้าราชการ ไปร่วมวิธีการเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นได้ เพราะได้ใช้เงินเดือนไปลงทุน และเมื่อ ประมูลดอกเบี้ยสูงเพื่อให้ได้เงินไปใช้สอยแล้วในเดือนต่อ ๆ ไปก็ย่อมจะขาดแคลนเงิน สําหรับใช้สอย อันจะก่อให้เกิดคอร์รัปชันขึ้นได้ง่าย
จึงเห็นควรห้ามข้าราชการและ พนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์เสีย โดยให้ปฏิบัติดังนี้ สําหรับผู้ที่ยังไม่ได้ เล่นร่วมนั้นควรห้ามทันที ส่วนผู้ที่เล่นร่วมอยู่แล้วให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาจดทะเบียน และแจ้งกําหนดเวลาที่จะเสร็จสิ้นการเล่นร่วมของวงหนึ่ง ๆ ไว้ เมื่อถึงกําหนดที่รับ จดทะเบียนไว้ก็ให้ยุติโดยเด็ดขาด” จึงถือได้ว่าในช่วงระยะเวลาตามที่ได้มีมติของ คณะรัฐมนตรีออกมาห้ามมิให้ข้าราชการเล่นแชร์นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนเล่นแชร์ต่อไปก็จะ เป็นความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นความผิดทางวินัยของข้าราชการได้
ต่อมา สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร ๐๕๐๕/ว ๒๒๖ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๖ “เรื่อง การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามข้าราชการ และพนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์” โดยขอให้ส่วนราชการและ รัฐวิสาหกิจตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่สมควรปรับปรุงหรือยกเลิก ซึ่งกระทรวง อุตสาหกรรมได้แจ้งว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่สามารถใช้บังคับได้กับสภาพ ความเป็นจริงในปัจจุบัน ประกอบกับในปัจจุบันการเล่นแชร์ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การรับรองได้ว่าเป็นสัญญาที่ไม่ขัดต่อความ สงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สามารถใช้บังคับคดีได้โดยถูกต้องตาม กฎหมาย และสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่เกิดผล ในทางปฏิบัติ
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ซึ่งกําหนด ให้การเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดําเนินการเป็นธุรกิจสามารถกระทําได้ ภายใต้ การกํากับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีสาระสําคัญคือ กําหนดให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ได้ไม่เกิน ๓ วง มีจํานวน สมาชิกวงแชร์รวมกันไม่เกิน ๓๐ คน และมีวงเงินรวมกันไม่เกินที่ กําหนดไว้ในกฎกระทรวง (๓00,000 บาท) ดังนั้น จึงเห็นสมควร ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ห้ามข้าราชการและพนักงานของ องค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์ เนื่องจากไม่มีผลในทางปฏิบัติและ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นชอบ ด้วยกับความเห็นของส่วนราชการดังกล่าว จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๙๘ เรื่อง ห้ามข้าราชการและพนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์ ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๗ (ฝ่ายกฎหมายและ ระบบราชการ) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานกรรมการได้ พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๖ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ แล้ว มีประเด็นอภิปรายและมติ ดังนี้
ประเด็นอภิปราย
(๑) โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (๕ มกราคม ๒๕๕๘) เห็นชอบเกี่ยวกับ การห้ามข้าราชการและพนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์ เนื่องจากขณะนั้น ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการเล่นแชร์โดยเฉพาะ และเห็นว่าจะทําให้เกิดผลกระทบกับ การปฏิบัติงาน เช่น เกิดการแตกความสามัคคี เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ กําหนดให้การเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดําเนินการ เป็นธุรกิจสามารถกระทําได้ตามที่กฎหมายกําหนด ทําให้ไม่มีความจําเป็นต้องควบคุม หรือห้ามการเล่นแชร์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอีกต่อไป ประกอบกับปัจจุบัน การเล่นแชร์ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สามารถใช้ บังคับได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
(๒) สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในการประมวลมติ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมติคณะรัฐมนตรีที่ล้าสมัย ซึ่งควรได้รับการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขหรือยกเลิกเสีย จึงได้แจ้งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตรวจสอบ มติคณะรัฐมนตรีที่สมควรจะดําเนินการดังกล่าว โดยมีส่วนราชการหลายแห่งเสนอ ขอทบทวนปรับปรุงให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (๕ มกราคม ๒๕๕๘) เกี่ยวกับ การห้ามข้าราชการและพนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์ โดยเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสมควรดําเนินการยกเลิกได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ใช้บังคับโดยถูกต้องแล้ว การยกเลิกจึงน่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากไม่มีผลทางปฏิบัติและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
มติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๗ เห็นชอบ ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (๕ มกราคม ๒๕๕๘) เกี่ยวกับการห้ามข้าราชการและ พนักงานขององค์การรัฐบาลเล่นการลงแชร์ ตามที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ โดยให้ผู้บังคับบัญชากวดขันดูแลผู้ใต้บังคับบัญชามิให้หมกมุ่นหรือเอาใจใส่เกี่ยวกับ การเล่นแชร์ในสถานที่ราชการจนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ หรือแตกความสามัคคี หรือเป็นหนี้สินโดยไม่สมควร ซึ่งแม้จะไม่ผิดวินัยฐานเล่นแชร์ แต่ยังคงเป็นความผิด ทางวินัยและสามารถดําเนินการทางวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบที่มีในฐานะอื่นได้
บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว การเล่นแชร์นั้นไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ประชาชนโดยทั่วไปรวมทั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถเล่นได้ แต่ใน การเล่นแชร์นั้นก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งกําหนด หลักเกณฑ์สําหรับนายวงแชร์ให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกําหนด
แต่อย่างไรก็ตาม ในการเล่นแชร์นั้นแม้จะไม่เป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่หากสมาชิกวงแชร์คนใดได้ กระทําผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาในการเล่นแชร์นั้นก็อาจจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นการผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่ามีการโกงแชร์กันเกิดขึ้น หรือ มีการฟ้องร้องดําเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงกัน ก็มีตัวอย่างให้เห็นเป็นจํานวนมาก
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเล่นแชร์ในแต่ละวงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมาชิกในวงแชร์สามารถได้รับเงินทุนกองกลางได้ครบทุกคน ผู้ที่มาร่วมเล่นแชร์ด้วย กันนั้นก็ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ทั้งต่อตนเองและต่อสมาชิกในวงแชร์นั้นด้วย ทั้งนี้ เพราะการเล่นแชร์นั้นจําเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันทุกฝ่าย หากทุกคนมี ความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันการเล่นแชร์ในแต่ละวงก็จะเป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อย ทุกคนสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างสบายใจ เพราะจะไม่เกิดกรณีการเบี้ยวแชร์หรือ โกงแชร์กันอีกต่อไป ซึ่งก็จะสมประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่จะได้รับเงินทุนกองกลางเพื่อเป็น ทุนใช้จ่ายในกรณีจําเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงินในการดําเนินชีวิตต่อไป
หากท่านมีข้อสงสัยอื่นใดเกี่ยวกับ การเล่นแชร์ / เล่นแชร์ออนไลน์ อย่าลังเลที่จะติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายจากเรา โทร 062-4436667 หรือ NATTAPATFIRM.COM เพื่อสนทนากับทนายความส่วนตัวของคุณ